17 May Hygienic Packaging โอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้ายุคโควิด-19
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจ โดยได้รับอานิสงส์จากยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจส่งอาหารที่ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า ห้ามการนั่งรับประทานในร้านอาหาร จากข้อมูลของ Packaging Intelligence Unit กระทรวงอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในประเทศสามารถขยายตัวได้ราว 3% YOY ในปี 2020 แม้ว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมี GDP หดตัว -6.1% จากโควิด-19 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด และข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ในประเทศเติบโตถึงกว่า 12% YOY มาอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคได้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ และตระหนักถึงสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเปลี่ยนโฉมรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ในโลกยุคโควิด และโลกหลังโควิดต่อไปในอนาคต นอกจากบรรจุภัณฑ์ช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าภายในแล้ว ผู้บริโภคยังมั่นใจว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการจับต้องจากมือผู้อื่นอีกด้วย ในอดีตตามซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด วางขายผักผลไม้ให้ลูกค้าเลือกหยิบจับได้ตามใจชอบ ไม่มีการแพ็กใส่ถุงหรือกล่องแต่อย่างใด ปัจจุบันสินค้าต่าง ๆ ควรต้องถูกแพ็กลงในบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย (hygienic packaging) จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์และแบรนด์สินค้าในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ Transparency Market Research (ตีพิมพ์เดือนมกราคม 2021) คาดการณ์ว่าตลาด hygienic packaging จะเติบโต 6% ต่อปี ระหว่างปี 2020-2028 ปัจจุบัน hygienic packaging ได้พัฒนา 2 ด้าน คือ 1) วัสดุที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ 2) การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพ ในด้านวัสดุองค์การอนามัยโลกรายงานว่า โคโรนาไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิว เช่น อะลูมิเนียมอยู่ได้ 2-8 ชั่วโมง พลาสติกและกระดาษอยู่ได้ 4-5 วัน ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐชี้ว่า 80% ของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นติดมาจากการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องสินค้า กล่องใส่อาหาร ถุงพลาสติก เป็นสิ่งที่ถูกหยิบจับ เปลี่ยนมือ ตั้งแต่กระบวนการแพ็กไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค...